ความเป็นมาของการประกันภัย จากอดีต สู่ปัจจุบัน

Last updated: 27 มี.ค. 2565  |  1861 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความเป็นมาของการประกันภัย

แนวความคิดด้านการประกันภัยมีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องเกี่ยวกับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เล่ากันว่าคืนวันหนึ่งกษัตริย์ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่ามีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวซูบผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟได้ทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้งประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี โจเซฟจึงได้ทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้

บันทึกเกี่ยวกับความเป็นมาของการประกันภัยอีกด้าน กล่าวว่าเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบาบิโลน (Babylonian) ที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำยูเฟรทีส ได้ทำการค้าและผลิตสินค้าส่งไปขายตามเมืองต่างๆ โดยอาศัยแรงงานจากทาสหรือบริวารในการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งบรรดาทาสหรือบริวารเหล่านั้นต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด และไม่มีอำนาจในการตกลงกับผู้ซื้อนอกเหนือไปจากที่ได้รับคำสั่งจากนายของตนเท่านั้น เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ปัญหาความไม่สะดวกทางการค้าก็ทวีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทาสหรือบริวารไม่มีอำนาจในการเจรจาตกลงกับผู้ซื้อได้ ต้องรอให้เจ้านายเป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น

ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนไปใช้ “พ่อค้าเร่” (Traveling Salesman) ให้รับหน้าที่ในการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบไปจำหน่ายตามเมืองต่าง ๆ แทน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าพ่อค้าเร่จะไม่คดโกง เจ้าของสินค้าได้ยึดทรัพย์สิน ภรรยา และบุตรของพ่อค้าเร่ไว้เป็นหลักประกัน โดยมีสัญญาว่าเมื่อขายสินค้ากลับมาแล้วพ่อค้าเร่ต้องแบ่งกำไรให้กับเจ้าของสินค้าครึ่งหนึ่ง หากพ่อค้าเร่หนีหรือถูกโจรปล้นเอาสินค้าไปหมด บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกริบ ส่วนภรรยาและบุตรของพ่อค้าเร่ต้องตกเป็นทาสรับใช้เจ้าของสินค้า

ด้วยเงื่อนไขอันเสียเปรียบนี้ทำให้บรรดาพ่อค้าเร่ไม่พอใจและเกิดการแข็งข้อไม่ยอมรับ จนในที่สุดได้มีการตกลงเงื่อนไขกันใหม่ว่า “ถ้าการสูญเสียสินค้าโดยมิใช่ความผิดของพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าเร่ไม่ได้เพิกเฉยต่อการป้องกันรักษาสินค้าอย่างเต็มที่แล้วให้ถือว่าพ่อค้าเร่ไม่มีความผิด เจ้าของสินค้าจะริบทรัพย์สิน ภรรยา และบุตร ของพ่อค้าเร่ไม่ได้” ข้อตกลงใหม่นี้เป็นที่ยอมรับและใช้ต่อกันมาอย่างแพร่หลาย นับได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณ

ยุคต่อมาชาวกรีกได้นำแนวคิดของชาวบาบิโลนมาประยุกต์ใช้กับกิจการเดินเรือของตน ซึ่งเรียกแนวความคิดนี้ว่า “สัญญาบอตตอมรี่” (Bottomry) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าของเรือต้องการจะส่งสินค้าไปขายยังเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลแต่ขาดเงินทุนในการซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ เจ้าของเรือจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากนายทุนเงินกู้ เพื่อนำเงินไปเป็นทุนในการค้าขาย เจ้าของเรือที่มีเรือเป็นของตนเองสามารถนำเรือของตนมาเป็นหลักประกันเงินกู้ และมีเงื่อนไขสัญญาว่าถ้าเรือสินค้ากลับมาจากการขายสินค้าแล้วจะชดใช้เงินที่กู้ไปทั้งหมด หากผิดสัญญานายทุน เงินกู้สามารถยึดเรือเพื่อชดใช้หนี้เงินกู้ได้ แต่ถ้าเรือสินค้าลำดังกล่าวประสบภัยระหว่างทางหรือไม่สามารถกลับมายังเมืองท่าต้นทาง นายทุนเงินกู้ก็ไม่สามารถมาเรียกร้องให้เจ้าของเรือชดใช้หนี้สินได้ กรณีที่ผู้กู้ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือมีแต่สินค้าที่ส่งไปขายหรือผู้ที่ต้องการจะซื้อสินค้ากลับมา ผู้กู้สามารถนำสินค้าเหล่านั้นมาเป็นหลักประกันสำหรับเงินกู้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาเงินกู้ที่มีสินค้าเป็นประกันเรียกว่า “สัญญาเรสปอนเดนเทีย” (Respondentia) จึงนับได้ว่าการประกันภัยทางทะเลได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลานี้และยังได้มีการจัดตั้งสถาบันการประกันภัยทางทะเลขึ้นในกรุงเอเธนส์อีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าในสมัยโบราณนั้น การประกันภัยเกิดจากระบบการค้าขายที่ต้องส่งสินค้าจากเมืองหนึ่งไปขายยังเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งมีความเสี่ยงภัยเป็นอันมาก สินค้าอาจไปไม่ถึงปลายทางด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ทั้งจากภัยธรรมชาติหรือจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง เหล่าพ่อค้าจึงจำเป็นต้อง แสวงหา “หลักประกัน” (Guarantee) ไว้ชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดภัยขึ้น การหาหลักประกันดังกล่าวแม้จะไม่ใช้หลักเกณฑ์ของการประกันภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ตามที แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีแนวความคิดที่จะหาทรัพย์สินมา “ชดเชยความเสียหาย” (Indemnified) ที่เกิดขึ้นกับตน

สำหรับในภูมิภาคเอเชียคาดว่าแนวคิดเรื่องการประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพ่อค้าชาวจีนที่ขนส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ ผ่านทางแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่อันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น ลมพายุ ฝนตกหนัก และหิมะ เป็นต้น เป็นเหตุให้เรือบรรทุกสินค้ามักอับปางลงอยู่เสมอ ด้วยความกลัวว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นกับสินค้าของตนระหว่างการขนส่ง พ่อค้าชาวจีนจึงได้นำสินค้าที่จะขนส่งไปจำหน่ายเหล่านั้นแบ่งลงเรือหลายๆ ลำ หากเรือลำใดประสบภัยพิบัติจมลง พ่อค้าก็ยังเหลือสินค้าในเรือลำอื่นส่งไปถึงปลายทางได้ วิธีการนี้ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายออกไป

วิธีกระจายความเสี่ยงเช่นนี้ ชาวโรมันเมื่อสมัย 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช เคยนำหลักการนี้มาใช้ในการลงทุนซื้อเรือเพื่อขนสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ โดยพ่อค้าชาวโรมันจะไม่ลงทุนซื้อเรือมาเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่จะชักชวนผู้อื่นมาซื้อเรือร่วมกันหลายๆ ลำ พ่อค้าแต่ละคนจะเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของเรือแต่ละลำ หากเรือลำใดเสียหายอับปางไปก็ยังมีเรือลำอื่นเหลืออยู่ไม่สูญเสียเรือไปทั้งหมด ซึ่งหลักการเช่นนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงภัยที่คล้ายกับการประกันภัยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ด้านประวัติการประกันภัยในทวีปยุโรป คาดว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ในยุคนั้นศูนย์กลางการค้าของยุโรปตั้งอยู่บริเวณประเทศริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก โดยมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น พ่อค้าชาวยุโรปได้ส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ โดยใช้การเดินทางทั้งทางบกและทางทะเล แต่การเดินทางติดต่อค้าขายทางทะเลจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางบก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางบกแบบกองคาราวานต้องอาศัยกำลังคนเป็นจำนวนมากในการคุ้มกันทรัพย์สินและลำเลียงสินค้า จึงมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานสูงมาก ส่วนการขนส่งสินค้าทางทะเลแม้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่ก็เต็มไปด้วยภัยพิบัตินานัปการ เช่น ภัยธรรมชาติที่เกิดจากพายุ คลื่นลม ฟ้าผ่า และโจรสลัด เป็นต้น ประกอบกับการขนส่งสินค้าทางทะเลในสมัยนั้นยังใช้เรือใบขนาดเล็กเป็นพาหนะซึ่งมีความเสี่ยงภัยสูง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกการขนส่งสินค้าทางทะเลว่าเป็น “การเสี่ยงภัยทางทะเล” (Marine Adventure) จากสาเหตุความเสี่ยงภัยที่สูงดังกล่าว จึงเกิดระบบการกู้ยืมเงินขึ้น โดยใช้สินค้าหรือเรือที่เป็นพาหนะในการขนส่งเป็นหลักประกันเงินกู้ หากเรือขนส่งสินค้าเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย นายทุนที่ให้กู้ยืมเงินก็จะได้เงินกู้คืนพร้อมด้วยส่วนแบ่งที่เป็นผลกำไรจากเงินกู้ แต่ในกรณีที่เรือประสบภัยพิบัติสูญเสียทั้งชีวิตของผู้กู้และสินค้า นายทุนเงินกู้ไม่สามารถเรียกร้องให้ชดใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าว

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวลอมบาร์ด (The Lombards) ประเทศอิตาลีได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ได้นำระบบเงินกู้ของชาวกรีกโบราณมาใช้ในการกู้เงิน ได้แก่ การกู้เงินที่ใช้เรือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือ “สัญญาบอตตอมรี่” (Bottomry Bond) และการกู้เงินที่นำสินค้ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือ “สัญญาเรสปอนเดนเทีย” (Respon-Dentia Bond) ต่อมากลุ่มพ่อค้าชาวลอมบาร์ดได้คิดระบบการกระจายความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยไม่ให้เงินกู้ในลักษณะการจัดหาเรือและซื้อสินค้า แต่จะจ่ายเงินให้เมื่อเกิดภัยพิบัติทางทะเลแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเรือและสินค้าที่ขนส่งกับเจ้าของเรือแทน วิธีการนี้จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือ “เบี้ยประกันภัย” (Premium) จากเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำประกันภัยการขนส่งทางทะเล และได้มีสัญญาประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกเกิดขึ้น คือ ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี

ตามประวัติศาสตร์การประกันภัยขนส่งทางทะเลมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วในประเทศอังกฤษราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศอังกฤษมีการค้าขายทางทะเลมากกว่าประเทศอื่นใดในยุโรป ทำให้แนวความคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงอันเนื่องมาจากภัยทางทะเลแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่าสัญญาประกันภัยฉบับแรกของอังกฤษ คือ "The Broke Sea Insurance Policy" ปี ค.ศ. 1547 โดยวิธีการทำประกันภัยในสมัยนั้น เจ้าของเรือหรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อประกันภัยจะทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่างๆ ที่จะบรรทุกลงเรือ ใต้รายการเหล่านี้นายธนาคารหรือบุคคลอื่นๆ ที่ประสงค์จะรับประกันภัยจะลงชื่อพร้อมกับระบุจำนวนเงินที่ตนจะรับเสี่ยงแล้วลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผู้ลงนามข้างใต้” (Underwriter) และเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้ลงนามข้างใต้แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” (Premium)

ในช่วงเวลานั้น สัญญาประกันภัยส่วนมากเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเล ต่อมาก็ขยายออกไปคุ้มครองถึงการเสียชีวิตของนายเรือและลูกเรือ รวมทั้งพ่อค้าที่คุมสินค้าไปกับเรือ ตลอดจนคุ้มครองจำนวนเงินที่จะเป็นค่าไถ่ตัวเมื่อถูกโจรสลัดจับตัวด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้