ทำความรู้จักกับยาเคมีบำบัดหรือคีโม

Last updated: 27 มี.ค. 2565  |  1634 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำความรู้จักกับยาเคมีบำบัดหรือคีโม

ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือการให้คีโม หรือการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวคนไข้ ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดกันมาบ้างแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมักเกิดความวิตกกังวล

ยาเคมีบำบัด หรือบางท่านอาจเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ย่อมาจาก “คีโมเทอราปี” (chemotherapy) หมายถึง สารเคมีหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด

แม้ว่าปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งส่วนมากยังเป็นการใช้ยาเคมีบำบัด แต่ยาต้านมะเร็งยังรวมถึงยากลุ่มอื่นที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน ยาเคมีบำบัดแตกต่างจากยาต้านมะเร็งกลุ่มอื่นด้วย กลไกการออกฤทธิ์ไปขัดขวางกระบวนการแบ่งเซลล์ในระยะต่างๆ โดยตรง ขณะที่ยาต้านมะเร็งอื่น เช่น ยาต้านฮอร์โมน ออกฤทธิ์ต้านการสร้างหรือการใช้ ฮอร์โมนในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) อาจออกฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนในเซลล์มะเร็ง แล้วจึงมีผล ต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในภายหลัง

เป้าหมายของการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง

แพทย์อาจใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน โรคมะเร็ง หลายชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เช่น มะเร็งเม็ดโลหิต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลูกอัณฑะ แพทย์จะใช้ยาเคมี บำบัดเป็นการรักษาหลัก

สำหรับโรคมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ปอด และมะเร็งอื่นอีกหลายชนิด ภายหลังจากการผ่าตัดรักษา อาจให้ยาเคมีบำบัดเพื่อการรักษาเสริม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดให้สูงขึ้นกว่าการรักษาเฉพาะที่เพียงอย่างเดียว การให้ยาเคมีบำบัดในกรณีนี้ เพื่อหวังว่าจะกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเล็ดลอดจากการผ่าตัดรักษาที่ไม่สามารถมองเห็นหรือตรวจพบได้จากเอ็กซ์เรย์ บางกรณี ที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ การรักษาเฉพาะที่ก่อนทันทีอาจได้ผลในการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมก้อนขนาดใหญ่มากหรือลุกลามจนเป็นแผลแตก อาจทำให้ผ่าตัดออกไม่ได้หมด เกิดการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น หรือเสียรูปร่างของเต้านมมาก แพทย์อาจเลือกใช้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนลงจนทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้สะดวกขึ้น

ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิดที่ใช้การรักษาด้วยการฉายรังสีเป็นหลัก เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งทวารหนัก การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับการฉายรังสี จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปมากแล้ว การให้ยาเคมีบำบัดอาจทำเพื่อหวังผลการควบคุมไม่ให้โรคลุกลาม โดยไม่ได้หวังผลในการทำให้โรคหายขาด ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น อาการจากโรคลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วิธีการให้เคมีบำบัดแบ่งเป็น 2 วิธี

ยาเคมีบำบัดสามารถบริหารเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้หลายวิธี ได้แก่

  • เคมีบำบัดชนิดรับประทาน

  • เคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

ระยะเวลาในการรักษาด้วยเคมีบำบัด

ระยะเวลาในการรักษาด้วยเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของโรค และการตอบสนองต่อยา โดยปกติยาเคมีบำบัดจะให้เป็นชุด ใช้เวลา 1-5 วันต่อชุด แต่ละชุดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับเคมีบำบัดเฉลี่ย 6-8 ชุด (ขึ้นกับแผนการรักษาของแพทย์) โดยผู้ป่วยควรมารับยาตามนัดทุกครั้งเพื่อผลการรักษาที่ดี

เคมีบำบัดสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดหรือไม่

ยาเคมีบำบัด ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด โดยปกติแล้วยาเคมีบำบัด 1 ตัวนั้นอาจมีฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์มะเร็งบางชนิดเท่านั้น ทางการแพทย์จึงมีสูตรยาเคมีบำบัดหลายตัวเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีความหลากหลาย มะเร็งบางประเภทอาจต้องใช้ยาเคมีบำบัด  2 – 3 ชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา

ในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาสูตรยาเคมีบำบัดเหล่านี้ ได้ผ่านการค้นคว้าทดลองปรับสูตรยาและกระบวนการรักษา จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้แพทย์รู้ว่าเมื่อคนไข้เป็นมะเร็งชนิดไหนต้องใช้สูตรยาเคมีบำบัดตัวใดในการรักษา และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ยังคงค้นคว้าวิจัยหาสูตรตัวยา และเทคนิคการรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้อัตราการรักษาโรคมะเร็งแล้วประสบความสำเร็จมีสูงขึ้นเรื่อยๆ

ยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงมากมายจริงหรือ

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสูตรยาเคมีบำบัด ขนาดของ ยาเคมีบำบัดที่ได้รับ และสภาวะของผู้ป่วยก่อนที่จะได้รับยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

     1. อาการอ่อนเพลีย

     2. อาการคลื่นไส้ และอาเจียน

     3. ปวดเมื่อยตามร่างกาย

     4. ผมร่วง

     5. การติดเชื้อ

     6. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

     7. ภาวะซีด หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ

     8. แผลที่เยื่อบุภายในช่องปาก

     9. ท้องผูก หรือถ่ายเหลว

สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่ไหนได้บ้าง

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ต้องการแพทย์ผู้เข้าใจโรคเป็นอย่างดี ประกอบกับยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีผลข้างเคียง ที่อาจมีอันตราย ปัจจุบันในประเทศไทยมีแพทย์ผู้ชำนาญที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด ภายใต้การกำกับดูแลของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย คือ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง จำนวน ประมาณ 100 ท่าน ตามโรงพยาบาลและศูนย์มะเร็งต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีหน่วยให้ยาเคมีบำบัดที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น เภสัชกรปรุงยา และพยาบาลที่ชำนาญการในการบริหารยาเคมีบำบัด    

ประมาณการค่าฉายรังสี สำหรับโรคมะเร็งที่พบบ่อย

ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คลิก >> การบริการรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ข้อมูล : มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล / โรงพยาบาลพญาไท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้